การแจ้งเกิดตามกฎหมายไทย (สูติบัตรไทย)
บุคคลสัญชาติไทยที่มีบุตรเกิดในประเทศเยอรมนี สามารถแจ้งเกิดบุตรที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอสูติบัตรไทย (ใบเกิดไทย) ให้บุตรได้ และหากว่าบุตรของท่านเป็นเด็กสัญชาติลูกครึ่งไทยและสัญชาติเยอรมันหรือสัญชาติอื่นๆ บุตรของท่านสามารถถือสัญชาติไทยควบกับสัญชาติของบิดาหรือมารดาต่างด้าวได้ ไปจนถึงอายุ 20 ปีบริบูรณ์
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับสัญชาติเพิ่มเติมได้ที่
- พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508
- พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535
- พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551
การยื่นคำร้องขอแจ้งเกิดบุตรจะต้องมายื่นด้วยตนเองเท่านั้น โดย
- บิดาและมารดาที่มีสิทธิปกครองบุตรร่วมกัน ต้องมาแสดงตนที่สถานกงสุลใหญ่ฯ และลงลายมือชื่อ (เซ็นเอกสาร) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ พร้อมกัน บิดาหรือมารดาที่เป็นต่างชาติต้องลงลายมือชื่อ (เซ็นเอกสาร) ยินยอมให้บุตรถือสัญชาติไทยได้ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีบิดาหรือมารดาชาวต่างชาติมากล่าวอ้างในภายหลังว่าไม่รับทราบและไม่เคยให้ความยินยอมฯ
- หากบิดาหรือมารดามีสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องนำหลักฐานการแสดงสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ด้วย (หลักฐานฯ ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 เดือน)
รายการเอกสารที่ต้องยื่นประกอบคำร้องขอแจ้งเกิด
- แบบฟอร์มสำหรับกรอกเตรียมล่วงหน้าก่อนเดินทางมาสถานกงสุลใหญ่ฯ
คำร้องขอจดทะเบียนคนเกิด
- สำเนาสูติบัตรเยอรมันของบุตรที่รับรองจากทางการเยอรมัน (เช่น Regierungspräsidium หรือ Bezirksregierung)แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องต้องแปลเป็นภาษาไทย 1 ชุด (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารที่ “หน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน”)
- สำเนาทะเบียนสมรสเยอรมันหรือทะเบียนสมรสนานาชาติ (แบบหลายภาษา) ของบิดาและมารดา พร้อมคำแปลภาษาไทย หรือ สำเนาคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้วต้องระบุว่าใครเป็นผู้ปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว หรือปกครองบุตรร่วมกัน (ต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 เดือน) พร้อมคำแปลภาษาไทย หรือ หนังสือรับรองบุตร พร้อมคำแปลภาษาไทย 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนสมรสไทย (กรณีที่พ่อแม่เป็นบุคคลสัญชาติไทย และจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย)
- สำเนาสูติบัตรไทยของบุตรคนโต (บิดามารดาเดียวกัน) ที่แจ้งเกิดแล้ว 1 ฉบับ (หากมี)
- สำเนาหนังสือเดินทาง และ บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา 1 ชุด ในกรณีที่บิดาเป็นคนสัญชาติไทย ต้องยื่นสำเนาทะเบียนบ้านไทยเพิ่มด้วย 1 ชุด
- สำเนาหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนของมารดา 1 ชุด ในกรณีที่มารดาเป็นคนสัญชาติไทย ต้องยื่นสำเนาทะเบียนบ้านไทยของมารดา ที่เปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรสหรือเปลี่ยนนามสกุลหลังการหย่าเพิ่มด้วย 1 ชุด
- สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) ของบิดาและมารดา 1 ชุด
- หนังสือยินยอมของบิดาหรือมารดาให้บุตรถือสัญชาติไทยได้ (เจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ มีแบบฟอร์มหนังสือยินยอมฯ เตรียมไว้ให้)
- เอกสารที่ระบุ ชี่อโรงพยาบาล, เวลาเกิด และ น้ำหนักแรกเกิดของบุตร
- ค่าธรรมเนียมรับรองสำเนาถูกต้องสูติบัตรไทย 15 ยูโร (รับชำระเป็นเงินสดเท่านั้น)
- เจ้าหน้าที่ฯ อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้ แล้วแต่กรณี
การแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทย
การแจ้งชื่อบุตรของท่านเข้าทะเบียนบ้านไทย ทำได้ดังนี้
- นำใบเกิดไทยของบุตร (สูติบัตรไทย) ตัวจริง หนังสือเดินทางไทยหรือหนังสือเดินทางเยอรมันของบุตรไปแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านที่อำเภอที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน
- ขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านไทยของบุตร เพื่อนำมาใช้ที่ประเทศเยอรมนีด้วย
- นายทะเบียนอำเภอของแต่ละจังหวัดอาจจะเรียกเอกสารอื่นเพิ่มเติมได้
การขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-พาสปอร์ต) ให้บุตร
หลังจากที่ท่านไปแจ้งชื่อบุตรของท่านเข้าทะเบียนบ้านไทยเรียบร้อยแล้ว โดยมีสำเนาทะเบียนบ้านไทยของบุตรเป็นหลักฐาน ท่านสามารถยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางให้บุตรของท่านได้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในส่วน “หนังสือเดินทาง”